คณะเกษตรและชีวภาพ
|
ปรัชญา วิสัยทัศน์ |
ปรัชญา : ความรู้คู่คุณธรรม วิจัยนำนวัตกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารพัฒนา
วิสัยทัศน์ : เป็นแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาเกษตรไทย มุ่งพัฒนางานวิจัยเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่ยั่งยืน
เอกลักษณ์ : ผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ และเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต อัตลักษณ์ของบัณฑิต : บัณฑิตนักปฏิบัติ จิตอาสา ก้าวหน้าเทคโนโลยี มีทักษะพหุภาษา
พันธกิจ
1. ผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 2. วิจัย พัฒนา บูรณาการองค์ความรู้ ภูมิปัญญา นวัตกรรม และถ่ายทอดสู่ชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน 3. บริการวิชาการด้านเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อพัฒนาท้องถิ่น 4. ส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมวิถีเกษตรไทย 5. ส่งเสริมการพัฒนาสังคมให้สอดคล้องกับแนวทางพระราชดำริ และพระบรมราโชบายในหลวงรัชกาลที่ 10 6. บริหารจัดการองค์กรโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ความพอเพียงและความคงอยู่แห่งวิถีไทย
นโยบาย
1. ส่งเสริมสนับสนุน การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ด้านเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน และการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ 2. พัฒนาศูนย์บริการวิชาการทั้งทางกายภาพและการบริหารจัดการ เพื่อการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพ 3. ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยและเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 4. สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น ในด้านการสร้างนวัตกรรม การวิจัย และการบริการวิชาการ 5. ส่งเสริม อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการเกษตร 6. ร่วมแก้ไขปัญหาท้องถิ่น พัฒนาผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในท้องถิ่นด้านเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร
ภาพอนาคต
1. คณะเกษตรและชีวภาพ เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการบริการทางวิชาการการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีและ บัณฑิตศึกษา 2. คณะเกษตรและชีวภาพเป็นแหล่งผลิตองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารแก่ชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนม แพะ ศูนย์ความเชี่ยวชาญการเพาะเห็ดและพืชเศรษฐกิจ และศูนย์การจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดชัยนาท
ประเด็นยุทธศาสตร์
1. ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ มีสมรรถนะทางวิชาชีพเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร เพียบพร้อมคุณธรรมและจริยธรรม 2. การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ ภูมิปัญญา นวัตกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมเข้มแข็ง 3. การบริการวิชาการเพื่อพัฒนาท้องถิ่นด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” 4. การส่งเสริม อนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมตามวิถีเกษตรไทย 5. การส่งเสริมการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล การพัฒนาบุคลากร และการประกันคุณภาพการศึกษา
เป้าประสงค์
1. บัณฑิตคณะเกษตรและชีวภาพ มีความรู้ และมีสมรรถนะทางวิชาชีพเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร 2. คณาจารย์มีความเข้มแข็งทางวิชาการ สร้างสรรค์งานวิจัย และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนเมือง และสามารถนำผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ในการพัฒนาท้องถิ่น หรือชุมชนเมือง หรือการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ 3. บริการวิชาการเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และชุมชนเมือง ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ตามพื้นที่เป้าหมายและประเด็นการบริการวิชาการที่สอดคล้องกับการปรับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย (Reprofiling) ด้วยศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 4. ส่งเสริม อนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมตามวิถีเกษตรไทย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมเกษตร 5. มีการบริหารงานเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและมาตรฐานการศึกษาที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และบุคลากรของคณะเกษตรและชีวภาพ ได้รับการพัฒนาให้มี สมรรถนะ พร้อมรับศตวรรษที่ 21
โครงสร้างของคณะ
|
ประวัติคณะเกษตรและชีวภาพ
คณะเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มีพัฒนาการมาเป็นระยะเวลานานกว่า 50 ปี โดยเริ่มต้นในระยะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ยังคงมีสถานะเป็นวิทยาลัยครูจันทรเกษม และได้มีการจัดการเรียนการสอนด้านเกษตร โดยความรับผิดชอบของหมวดวิชาเกษตรกรรมในสังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นในปี พ.ศ. 2499 โดยระยะเริ่มแรกเป็นการจัดการเรียนการสอนรายวิชาเกษตร เป็นรายวิชาพื้นฐานสำหรับหลักสูตรครูในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ จากนั้นได้มีการพัฒนาการโดยเปิดเป็นวิชาโท เกษตรกรรม ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ. สูง)
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2515 หมวดวิชาเกษตรกรรม ได้พัฒนาขึ้นเป็นภาควิชาเกษตรศาสตร์ สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเปิดสอนวิชาเอกเกษตรกรรม ในหลักสูตรในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) ขึ้น
ปี พ.ศ. 2519 ได้มีการเปิดสอนสาขาเกษตรระดับปริญญาตรีขึ้นในวิทยาลัยครูจันทรเกษม ในหลักสูตร ครุศาสตรบัณฑิต สาขาเกษตรกรรม ซึ่งเป็นหลักสูตร 2 ปี รวมทั้งมีการพัฒนาด้านศักยภาพ อาคาร และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ เรื่อยมา
ปี พ.ศ. 2523 ได้มีการเปิดสาขาวิชา ครุศาสตรบัณฑิต (ครุศาสตร์เกษตร) หลักสูตร 4 ปี
ปี พ.ศ. 2526 เปิดสอนภาคต่อเนื่องระดับ ป.กศ. สูง สาขาเทคนิคอาชีพ (กสิกรรม)
และภาควิชาเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดตั้งเป็น คณะวิชาเกษตรและอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2527 ซึ่งในระยะดังกล่าวเริ่มมีปริมาณบัณฑิตสาขาครูมากเกินไป จึงทำให้มีการปรับปรุงหลักสูตร การเปิดสอนในสาขาอื่นที่ไม่ใช่สาขาครุศาสตร์เกิดขึ้น คณะวิชาเกษตรและอุตสาหกรรม จึงได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาต่างๆ ดังนี้
ปี พ.ศ. 2528 ได้เปิดสอนหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกการส่งเสริมและสื่อสารการเกษตร (หลักสูตร 2 ปีต่อเนื่อง)
ปี พ.ศ. 2529 ได้เปิดสอนหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกพืชศาสตร์ (หลักสูตร 2 ปีต่อเนื่อง) และหลักสูตรระดับอนุปริญญา (อ.วท.) วิชาเอกพืชศาสตร์ และวิชาเอกสัตวบาล
ปี พ.ศ. 2530 ได้เปิดสอนหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกเกษตรศาสตร์ (หลักสูตร 4 ปี)
ปี พ.ศ. 2534 ได้เปิดสอนหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (หลักสูตร 4 ปี) และเปิดสอนหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกวิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์ (หลักสูตร 2 ปีต่อเนื่อง)
ปี พ.ศ. 2535 ได้เปิดหลักสูตร อนุปริญญาสาขาสัตวรักษ์ และมีการเปิดโรงพยาบาลสัตว์จันทรเกษมขึ้นในปีเดียวกัน
ปี พ.ศ. 2542 มีการเปลี่ยนชื่อ คณะวิชาเกษตรและอุตสาหกรรม เป็น คณะเทคโนโลยีการเกษตร ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 79 ง. หน้า 9 ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2542 เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงวิทยาลัยครูจันทรเกษม มาเป็น สถาบันราชภัฏจันทรเกษม
ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารของสถาบันราชภัฏจันทรเกษม มาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และคณะเทคโนโลยีการเกษตร ก็ได้รับการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่ง เป็น คณะเกษตรและชีวภาพ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 122 ตอนที่ 20 ก. หน้า 7 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2548
ในปี พ.ศ. 2554 คณะเกษตรและชีวภาพ มีการดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร พ.ศ. 2549 เป็น หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2554 และปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาการผลิตและการจัดการพืชเพื่อชุมชนเมือง พ.ศ.2549 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิทยาการผลิตและสุขภาพสัตว์ พ.ศ. 2549 และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาส่งเสริมและธุรกิจเกษตร พ.ศ. 2549 เป็น หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตย สาขาเกษตรศาสตร์ หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2554
ในปี พ.ศ. 2558 คณะเกษตรและชีวภาพ มีการดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร พ.ศ. 2554 เป็น หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2559 และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2554 เป็น หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์เกษตรและการประกอบการ หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2559
การแบ่งส่วนราชการ
การแบ่งส่วนราชการคณะเกษตรและชีวภาพ มีลำดับดังนี้
พ.ศ. 2527 คณะวิชาเกษตรและอุตสาหกรรม แบ่งการบริหารงานเป็น 3 ภาควิชา ได้แก่
- ภาควิชาเกษตรศาสตร์
- ภาควิชาส่งเสริมการเกษตร
- ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร
พ.ศ. 2542 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็น สถาบันราชภัฏจันทรเกษม ได้มีการปรับการบริหารภายในคณะเป็นโปรแกรมวิชา คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันราชภัฏจันทรเกษม จึงแบ่งการบริหารในคณะเป็น 6 โปรแกรมวิชา ดังนี้
- โปรแกรมวิชาเกษตรศาสตร์
- โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการเกษตร
- โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์และสัตวรักษ์
- โปรแกรมวิชาสัตวบาล
- โปรแกรมวิชาการส่งเสริมและสื่อสารการเกษตร
- โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
พ.ศ. 2547 ได้มีการปรับปรุงการบริหารภายในคณะเพื่อเตรียมรองรับการปรับมาเป็นมหาวิทยาลัย คณะเกษตรและชีวภาพ ได้แบ่งการบริหารภายในเป็น 4 ภาควิชา ได้แก่
- ภาควิชาวิทยาการเกษตร
- ภาควิชาวิทยาการผลิตและสุขภาพสัตว์
- ภาควิชาส่งเสริมและธุรกิจเกษตร
- ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร
พ.ศ. 2548 เมื่อมีการเสนอโครงสร้างไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้มีการให้ปรับลดลงเหลือเพียง 2 ภาควิชา คณะเกษตรและชีวภาพจึงได้มีการปรับการบริหารเป็น 2 ภาควิชา ได้แก่
- ภาควิชาวิทยาการผลิตและการจัดการเกษตร
- ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร
ต่อมาเมื่อมีการสรุปด้านการแบ่งส่วนจากประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 74 ง. ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2549 ได้ข้อสรุปว่าคณะเกษตรและชีวภาพ มีการแบ่งส่วนราชการตามโครงสร้างเป็นเพียงสำนักงานคณบดีเท่านั้น
สถานที่ตั้งหน่วยงาน
คณะเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
ตั้งอยู่เลขที่ 39/1 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
เว็บไซต์ : http://kaset.chandra.ac.th
หมายเลขโทรศัพท์/โทรสาร 0-2512-5192