สหกิจศึกษา/ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

       สหกิจศึกษา (Cooperative Education) เป็นระบบการศึกษา ที่เน้นการปฏิบัติงานใน สถานประกอบการอย่างมีระบบ โดยจัดให้มีการเรียนในสถานศึกษาร่วมกับการจัดให้ นักศึกษาไปปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการ งานที่นักศึกษาปฏิบัติจะตรงกับ สาขาวิชาของนักศึกษา โดยเน้นการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์จากการทำงานจริงเป็นหลัก หรือ Work-based learning หรือ โครงงานพิเศษ (Project) ที่มีประโยชน์กับสถานประกอบการ เช่น การปรับปรุง หรือการเพิ่มประสิทธิภาพ หรือการแก้ปัญหาของกระบวนการทำงาน ซึ่ง นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานให้สำเร็จได้ภายใน 4 เดือน ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ ประสบการณ์จากการทำงาน และมีคุณภาพตรงตามที่สถานประกอบการต้องการมากที่สุด

        ด้วยระบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานภาคทฤษฎีเข้ากับภาคปฏิบัติได้อย่างลงตัว  จะส่งผลให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพสูงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น และกระบวนการสหกิจศึกษาจะก่อให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสถานประกอบการทำให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาหลักสูตรได้ตลอดเวลา ส่วนสถานประกอบการจะได้แรงงานจากนักศึกษาที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ และสร้างจริยธรรมในวิชาชีพที่พึงปรารถนา ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์ทางด้านอาชีพ และการพัฒนาตนเองแก่นักศึกษา ในรูแบบที่มีคุณค่าเหนือกว่าการฝึกงาน
  2. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต
  3. เพื่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ
  4. เพื่อเป็นการส่งเสริม และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการ โดยผ่านนักศึกษาสหกิจศึกษาที่ไปปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการนั้น

บทบาทและหน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษา

1. รับผิดชอบการปฏิบัติงานของนักศึกษาในสาขาวิชาของตนดังนี้
                1. 1จัดโปรแกรมการปฏิบัติงานของนักศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ พื้นฐานของนักศึกษาความรู้ที่จำเป็น             ความสามารถเบื้องต้นและบุคลิกภาพ
                1.2  การพัฒนาการและการให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา
                1.3 การ ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ การติดตาม รวมถึงการดูแลและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานของนักศึกษา
                1.4 การประเมินผลการปฏิบัติของนักศึกษา

2. การนิเทศงาน ณ สถานประกอบการอย่างน้อย 2 ครั้ง

3. ให้คำปรึกษา พิจารณาหัวข้อโครงงานของนักศึกษาร่วมกับพนักงานที่ปรึกษา

4. ประเมินผลการปฏิบัติงานนักศึกษา

5. ประสานงานการจัดกิจกรรมสหกิจศึกษาภายหลังนักศึกษากลับจากสถานประกอบการ

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประสานงานสหกิจศึกษาระดับคณะ

1.พิจารณาคุณสมบัติทางวิชาการของนักศึกษาก่อนไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา

2.ประสานระหว่างมหาวิทยาลัย (งานสหกิจศึกษาฯ) ในการรับนโยบายสู่การปฏิบัติ

3.เป็นศูนย์ประสานงานในการจัดหาสถานประกอบการที่จะส่งนักศึกษาสหกิจไปปฏิบัติงาน เป็นศูนย์ข้อมูลของคณะ

4.เป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกแก่อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจของคณะ ในการที่จะออกไปปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการ รวมทั้งการส่งข่าวสารข้อมูลที่จำเป็นได้อย่างรวดเร็ว

กำหนดแผนงาน เป้าหมายในการจัดส่งนักศึกษาและคณาจารย์เข้าปฏิบัติงานสหกิจศึกษา

จัดทำหลักสูตร แผนการดรียมการสอนของคณะแล้วแต่กรณี เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดสหกิจศึกษาของคณะ

ประสานงาน ส่งเสริม สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการจัดสหกิจศึกษา

เป็นศูนย์กลางประชาสัมพันธ์ของคณะ

ขั้นตอนการนิเทศงาน

1. เจ้าหน้าที่งานสหกิจศึกษาจะประสานงานกับผู้ประสานงานสหกิจศึกษาทุกคณะ เพื่อกำหนดแผนการนิเทศงานของคณะทั้งภาคการศึกษา

2. เจ้าหน้าที่งานสหกิจศึกษาประสานงานกับสถานประกอบการ เพื่อนัดหมายวันและเวลาที่อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจจะเดินทางไปนิเทศงาน

3. เจ้าหน้าที่งานสหกิจศึกษารวบรวมข้อมูลของนักศึกษา พร้อมรายละเอียดสถานประกอบการส่งมอบให้อาจารย์ที่ปรึกษาก่อนวันเดินทาง  1  สัปดาห์

4. อาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน ไปนิเทศงาน 2 ครั้ง คือ ช่วงสัปดาห์ที่ 3 หรือ 4 ของเดือนแรก และ เดือนที่ 3

5. หัวข้อการนิเทศงาน คือ ตรวจสอบคุณภาพงานและหัวข้อรายงานที่สถานประกอบการมอบหมายติดตามผลการปฏิบัติงานและความก้าวหน้าในการจัดทำรายงานของนักศึกษา

6. ภายหลังเดินทางกลับอาจารย์ที่ปรึกษาประเมินผลการนิเทศงานทั้งสถานประกอบการและนักศึกษา

ประโยชน์ที่อาจารย์จะได้รับ

1.สามารถพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับภาวการณ์ปัจจุบัน

2. เป็นการเพิ่มศักยภาพของอาจารย์

3. เป็นการเพิ่มประสบการณ์ในภาคปฏิบัติ และได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมาดัดแปลงให้เป็นปัญหาในห้องเรียน

4. สามารถนำประสบการณ์ในการเป็นอาจารย์ปรึกษามาทำงานวิจัยได้

5. สามารถรับเป็นที่ปรึกษาให้กับสถานประกอบการได้

6. อาจารย์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น